วิธีปกป้องลูกจากภัยกรูมมิ่ง: เมื่อไปที่ไหนก็ไม่เป็นที่ปลอดภัย
- Pattreya Riwthong
- 13 พ.ค.
- ยาว 1 นาที

ในยุคที่ภัยคุกคามทางเพศแฝงตัวอยู่ทุกที่ ไม่เพียงแค่ในมุมมืดของสังคม แต่กลับพบได้แม้ในสถานที่ที่เราเคยเชื่อว่า "ศักดิ์สิทธิ์" หรือ "น่าเชื่อถือ" เช่น กรณีล่าสุดที่เจ้าอาวาสวัดดังในจังหวัดชลบุรีล่อลวงและข่มขู่เด็กหญิงวัย 13 และ 18 ปีให้ร่วมหลับนอน หรือคุณครูที่กระทำอนาจารเด็กมากถึง 17 คน
สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนว่า การคุกคามทางเพศสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ และไม่ใช่แค่โจรเท่านั้นที่จะกระทำสิ่งไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นบุคคลในอาชีพใด หรือเป็นคนรู้จักใกล้หรือไกลตัวเพียงใด เราก็ควรระวังและสอนลูกให้ปกป้องตัวเองเสมอ
สถิติที่น่าตกใจ
ข้อมูลจาก TICAC รายงานว่า ในปี 2567 เด็กหญิงอายุ 8-14 ปี เป็นกลุ่มที่ตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศมากที่สุดถึง 118 คน รองลงมาคือเด็กหญิงอายุ 15-17 ปี จำนวน 74 คน และเด็กชายทุกช่วงอายุรวม 11 คน
ที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือผลสำรวจจากกรมกิจการเด็กและเยาวชน ที่พบว่าเด็กอายุ 9-18 ปี ใช้โซเชียลมีเดียทุกวันถึง 85% และถูก Online Grooming มากถึง 12% ซึ่งชี้ให้เห็นว่า
อาชญากรรมทางเพศเกิดขึ้นได้ง่ายทั้งในโลกจริงและโลกออนไลน์
เข้าใจวิธีการของผู้ล่อลวง
ผู้ล่อลวงมักใช้เทคนิคดังนี้:
มองหาเด็กที่ขาดความเอาใจใส่จากครอบครัว โหยหาความสนใจ หรือขาดแคลนเงินทอง โดยเฉพาะในครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว
ค่อยๆ สร้างความไว้วางใจ แสดงความห่วงใย ให้ความช่วยเหลือ และสร้างบุญคุณกับครอบครัว บางรายใช้เวลาเป็นเดือนหรือปี
มองหาโอกาสอยู่กับเด็กตามลำพัง เช่น อาสาดูแลเด็กยามพ่อแม่ไม่ว่าง พาไปซื้อของหรือพาไปเที่ยว
ใช้เกมหรือกิจกรรมพิเศษเพื่อทำให้เด็กรู้สึกเป็นคนพิเศษ เช่น การบอกความลับ
สัญญาณเตือนที่พ่อแม่ควรสังเกต
หากลูกของท่านมีพฤติกรรมต่อไปนี้ อาจกำลังตกเป็นเหยื่อ Online Grooming:
1. ติดโทรศัพท์ ออนไลน์ตลอดเวลา ไม่ยอมให้ใครจับหรือดูโทรศัพท์
2. ดูมีความลับ ไม่ยอมบอกว่าคุยกับใคร หรือไม่ยอมเล่าถึงคนคนนั้น
3. สภาวะทางอารมณ์เปลี่ยนแปลง มีความกังวล อารมณ์ขึ้นลงรวดเร็ว แยกตัว ไม่พูดคุย
วิธีปกป้องลูกจากภัยคุกคาม
แม้เราไม่สามารถรู้ล่วงหน้าว่าภัยจะมาเมื่อใด แต่เราสามารถสร้างเกราะป้องกันได้:
พูดคุยกับลูกสม่ำเสมอ ไม่ตัดสิน ดุ หรือด่า แต่ใช้วิธีฟัง อธิบาย และให้คำแนะนำที่ถูกต้อง เมื่อลูกทำถูก ควรชมเชยเพื่อให้เขารู้ว่าทำถูกต้อง การฟังจะทำให้ลูกไว้วางใจและกล้าเล่าปัญหา
1. รู้จักและเชื่อมั่นในสัญญาณเตือนของตัวเอง
เชื่อความรู้สึกของตัวเอง – หากรู้สึกอึดอัด ไม่สบายใจ นั่นคือสัญญาณว่าบางอย่างไม่ถูกต้อง
สังเกตอาการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ เช่น นอนไม่หลับ ฝันร้าย กลัวการอยู่คนเดียว
2. กล้าที่จะปฏิเสธ
กล้าพูด "ไม่" ต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การแตะเนื้อต้องตัวหรือพูดจาลามก
ออกห่างจากสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัยทันที เช่น เดินหนี หรือบล็อกช่องทางสื่อสาร
3. เก็บหลักฐานและบันทึกเหตุการณ์
จดวัน เวลา สถานที่ และรายละเอียดของเหตุการณ์
เก็บข้อความ ภาพ หรือหลักฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
อัดเสียงหรือบันทึกวิดีโอหากทำได้และปลอดภัย
4. บอกคนที่ไว้ใจได้
ห้ามเก็บเรื่องนี้เพียงลำพัง ให้เล่าให้พ่อแม่ เพื่อน หรือครูประจำชั้นฟัง
ให้ความรู้เท่าทันสื่อและภัยออนไลน์ เพื่อให้ลูกรู้จักวิธีป้องกันและหลีกเลี่ยงกลลวง
ปลูกฝังเรื่องสิทธิส่วนบุคคล สอนลูกให้รู้ว่าไม่ควรให้ใครมาแตะต้องส่วนที่เป็นส่วนตัว เช่น ก้น หน้าอก หรืออวัยวะเพศ และหากถูกล่วงละเมิด ให้รีบแจ้งผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้ทันที
อ้างอิง
- ศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ. สถิติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต. https://humantrafficking.police.go.th/statistics-ticac/
- PPTV. แม่โวยลูกสาวเที่ยวงานวัด ก่อนถูกเจ้าอาวาสวัดดัง ล่อลวงไปสวิงกิ้ง. https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1/247959
- Thai PBS. เรื่องเสี่ยงใกล้ตัวเด็กไทย “Online Grooming” ที่ทุกคนต้องช่วยกันเป็นผู้พิทักษ์. https://www.thaipbs.or.th/now/content/1023
- Child Impact. Grooming การป้องกันและการจัดการ. https://childimpact.co/learning/grooming
- Thai PBS. ภาคสังคม-ขรก.ชี้รัฐเร่งอุดช่องโหว่กฎหมาย ก่อนไทยเป็นแดนสวรรค์อาชญากรทางเพศออนไลน์. https://www.thaipbs.or.th/news/content/340280
- มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล. เมื่อเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศจากคนใกล้ตัว. https://www.wmp.or.th/blog/3304/%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%81%E0%B8%96%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%A8%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A
#มูลนิธิพิทักษ์เเละคุ้มครองเด็ก #SafeguardKids
สีสิทธิเด็กที่เกี่ยวข้อง:
สีขาว: เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นในทุกประเด็นที่มีผลต่อพวกเขา และจะต้องถูกรับฟัง
สีเบจ: เด็กทุกคนมีสิทธิได้รับการปกป้องจากการแสวงหาผลประโยชน์และการถูกคุกคามทางเพศทุกรูปแบบ
สีแดง: เด็กที่เป็นเหยื่อของการถูกละเลย ทอดทิ้งหาผลประโยชน์ หรือถูกคุกคามทางเพศมีสิทธิที่จะได้รับการฟื้นฟูและ กลับเข้าสู่สังคมปกติ
สีส้ม: เด็กที่ไม่สามารถอาศัยอยู่กับครอบครัว มีสิทธิที่จะได้รับการเลี้ยงดูทางเลือกเช่น การรับเป็นบุตรบุญธรรม
สีฟ้า: ในการกระทำใดๆที่เกี่ยวข้องกับเด็กผลประโยชน์ของเด็กจะต้องถือเป็นความสำคัญลำดับหนึ่ง
สีม่วง: เด็กทุกคนมีสิทธิในการใช้ชีวิตและพัฒนาตัวเอง
🚨 สามารถอ่านบทความฉบับย่อ อ่านง่าย แชร์ง่าย เเละติดตามเพื่อไม่พลาดข่าวสารด้านคุกคามทางเพศเด็กและเยาวชนใหม่ๆได้ที่ Facebook Safeguardkids.org หรือกดลิ้งค์นี้ได้เลย https://www.facebook.com/safeguardkidsorg/
Comments