top of page
Safeguardkids_Brand-Update_page-0012.jpg

พื้นที่ปลอดภัยของหนู: ความกล้าคือทางออก การตกเป็นเหยื่อทางเพศ

Pattreya Riwthong

อัปเดตเมื่อ 11 มี.ค.



"ฉันมีสิทธิที่จะรู้สึกปลอดภัยในร่างกายของตัวเอง"

เด็กธรรมดาๆ ที่กล้าพูดคำว่า "ไม่" ในช่วงเวลาที่สำคัญคือวีรบุรุษที่รักเรามากที่สุด


ทุกวันนี้มีรายงานสถิติจากกรมกรมกิจการเด็กและเยาวชน ในปี 2567 มีเด็กและเยาวชนไทยอายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกคุกคามทางเพศสูงถึง 595 รายต่อปี หรือวันละ 1-2 ราย คิดเป็น 77.98% ของการตกเป็นเหยื่อทางเพศทั้งหมดที่มีรายงานเข้ามา และเป็นเพียงแค่จำนวนคนที่เข้าแจ้งความเท่านั้น เบื้องหลังตัวเลขเหล่านี้คือความกล้าหาญ การลุกขึ้นสู้ ของเพื่อนๆเด็กและเยาวชนเพื่อปกป้องของตัวเอง

 

สิทธิ หรือ สิทธิ์คืออะไร?

ถ้าว่าตามพจนานุกรมคือ [สิดทิ, สิด] น. อำนาจอันชอบธรรม เช่น บุคคลมีสิทธิและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เขามีสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้. (ป., ส.) (อ. right).

ภาษากฎหมายคือ อำนาจอันชอบธรรมอำนาจที่กฎหมายรับรองให้กระทำการใดๆ โดยสุจริตได้อย่างอิสระแต่ต้องไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของคนอื่น (อ. right).

และว่าตามภาษาทั่วไปคือ อำนาจของเราที่ทำให้เราเป็นอยู่ดีโดยมีกฎหมายคุ้มครอง เช่น มีกฎหมายทำให้เราไม่สามารถทำร้ายคนอื่น หรือไปทำให้คนอื่นเดือนร้อน และถ้ามีคนมาทำร้ายเรา เราก็ใช้สิทธิในกฎหมายเพื่อการปกป้องตัวเองและลงโทษคนนั้นได้


การรู้สิทธิของตัวเองเป็นสิ่งสำคัญมากที่ช่วยให้เราสามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับตัวเองได้และปกป้องตัวเองได้ แต่จะต้องทำอย่างไรบ้างลองมาดูสถานการณ์ตัวอย่างกันค่ะ


เคสที่ 1: อาวุธของคนตัวเล็ก: รู้จักสิทธิของตัวเอง

สมมติว่าเราถูกรุ่นพี่ในโรงเรียนคุกคามผ่านทางออนไลน์ มีการขอรูปส่วนตัวและส่งภาพอนาจารมาให้ดู เรารู้สึกอึดอัดและกลัว แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร อยากให้ลองศึกษาบทความจากแหล่งข้อมูลในอินเตอร์เน็ตอื่นๆ ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดเพื่อรู้ว่าสิ่งที่เราเจอตอนนี้มันคืออะไรหรือมันเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ หลังจากนั้นเราจะรู้ว่าควรทำยังไงต่อ:

ปฎิเสธ ตัดช่องทางการติดต่อกับคนนั้น เก็บหลักฐานข้อความทั้งหมด และนำไปปรึกษาพ่อแม่ให้เขาพาไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ

"สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรากล้าพอที่จะปฏิเสธ"


เคสที่ 2: "ตอนแรกหนูคิดว่าเป็นความผิดของหนูเอง"

สมมติว่าเราถูกคุณครูที่โรงเรียนแตะเนื้อต้องตัวในที่ที่ไม่เหมาะสมบ่อยครั้ง เริ่มจากการจับไหล่ ลูบศีรษะ จนกระทั่งเริ่มมีการสัมผัสที่เป็นที่ลับ เราอาจจะรู้สึกว่าไม่กล้าบอกใคร กลัวไม่มีใครเชื่อ เพราะเขาเป็นครูที่ทุกคนนับถืออยู่คู่โรงเรียนนี้มานาน ใคร ๆ ก็รู้ว่าเขาเป็นคนดี เราอาจจะเก็บเป็นความลับจนกระทั่งเรื่องนี้เกิดขึ้นกับเพื่อน จนถึงตอนนี้เราต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว 

จดบันทึกทุกเหตุการณ์อย่างละเอียด วัน เวลา สถานที่ คำพูดในวันนั้นที่เราเจอ แล้วนำไปปรึกษาครูแนะแนวหรือครูปกครอง หลังจากนั้น เรา เพื่อนที่ถูกกระทำ และครูไปแจ้งความกับตำรวจ พร้อมหลักฐานที่รวบรวมไว้ เพื่อให้คนที่ทำเราถูกสอบสวนและถูกลงโทษทางวินัย

 เขาทำผิด เขาต้องได้รับโทษ

"ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร เขาก็ไม่สามารถมาแตะต้องเราโดยที่เราไม่ยินยอม"

 

เคสที่ 3: “คนรอบข้างคือผู้ช่วยที่ดีที่สุด”

สมมติว่าเราถูกคนรู้จักในครอบครัวบังคับให้มีเพศสัมพันธ์มาตั้งแต่อายุ 15 ปี เราไม่กล้าบอกใครเพราะเขาขู่ว่าจะแฉเรา ถึงอย่างนั้นอาการทางกายภาพและสภาพจิตใจไม่สามารถปกปิดได้ เริ่มอาการเริ่มเงียบซึม เรียนไม่รู้เรื่อง เหม่อลอย ไม่อยากกลับบ้าน อยู่โรงเรียนนานกว่าปกติ นอนไม่หลับ ฝันร้าย จนสุดท้ายแล้วจะมีเพื่อนหรือครูที่จับจุดสังเกตได้

 

เล่าให้เขาฟังทุกอย่างอย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือให้เขาช่วยติดต่อหน่วยงานเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง

 

สุดท้ายเราจะออกมาอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยโดยเริ่มจากการขอความช่วยเหลือ ยิ่งบอกคนอื่นเร็ว ยิ่งปลอดภัยมากขึ้น

 “คุณไม่จำเป็นต้องแบกรับทุกอย่างคนเดียว มีคนพร้อมช่วยเหลือคุณเสมอ”

 



อ่านจากเรื่องราวสมมติมาแล้วพอจะจับแนวได้ไหมคะว่าต้องทำยังไงถ้าเจอสถานการณ์นั้น

เราได้รวบรวมทริคในการปกป้องตัวเองเพื่อความปลอดภัยของเรากันค่ะ  


📌 4 ขั้นตอนการปกป้องตัวเอง

1. รู้จักและเชื่อมั่นในสัญญาณเตือนของตัวเอง

🔹เชื่อความรู้สึกของตัวเอง – หากรู้สึกอึดอัด ไม่สบายใจ นั่นคือสัญญาณว่าบางอย่างไม่ถูกต้อง

🔸สังเกตอาการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ เช่น นอนไม่หลับ ฝันร้าย กลัวการอยู่คนเดียว

2. จงเป็นผู้กล้าสำหรับตัวเอง

🔹กล้าที่จะพูด "ไม่" ต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

🔸ออกห่างจากสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัยทันที เช่น เดินหนี บล็อกช่องทางสื่อสาร

🔹จำไว้ว่าร่างกายของคุณเป็นของคุณเท่านั้น

3. เก็บหลักฐานและบันทึกเหตุการณ์

🔹จดวัน เวลา สถานที่ และรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

🔸เก็บข้อความ ภาพ หรือหลักฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

🔹อัดเสียงหรือบันทึกวิดีโอหากทำได้และปลอดภัย

4. หาพันธมิตรที่ไว้ใจได้ เช่น เพื่อน แม่ พี่สาว คุณครูประจำชั้น หรือโทรหาหน่วยงานช่วยเหลือ

🔹ไม่จำเป็นต้องเผชิญกับทุกอย่างเพียงลำพัง ลองเล่าเรื่องราวของตัวเองให้เพื่อนฟัง ร่วมหาคนที่ถูกกระทำแล้วสู้ไปด้วยกัน

🔸ติดต่อหน่วยงานช่วยเหลือ เช่น สายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 (โทรฟรี 24 ชั่วโมง)


"การที่เด็กกล้าพูดออกมาและขอความช่วยเหลือไม่ใช่ความอ่อนแอ

 แต่เป็นความกล้าหาญและพลังที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม"

 

น้อง ๆ ไม่ได้อยู่คนเดียว และเหตุการณ์ที่หนูถูกคุกคามก็ไม่ใช่ความผิดของหนูเลย

การลุกขึ้นมาปกป้องตัวเองไม่ได้หมายความว่าเราต้องทำทุกอย่างเพียงลำพัง แต่หมายถึงการกล้าที่จะก้าวออกมาจากความกลัวและขอความช่วยเหลือ


หากใครต้องการความช่วยเหลือสามารถโทรติดต่อศูนย์ช่วยเหลือด้านล่างได้ 24 ชั่วโมงเพื่อไม่ตกเหยื่อเป็นเหยื่อของผู้กระทำผิดอีกต่อไป

☎️ สายด่วนขอความช่วยเหลือ

📞 TICAC ชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต: 1599

📞 สายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม: 1300 (โทรฟรี 24 ชั่วโมง)

📞 สายด่วนกรมกิจการเด็กและเยาวชน: 1111 กด 1

 


📢 ช่วยกันแชร์บทความนี้ เพื่อให้เสียงของน้องๆ ดังกว่าเสียงของผู้กระทำ!


สีสิทธิที่เกี่ยวข้องกับบทความ

สีขาว: สิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น

สีเบจ: สิทธิที่จะได้รับการปกป้องจากการแสวงหาผลประโยชน์และการถูกคุกคามทางเพศทุกรูปแบบ

สีแดง: สิทธิที่จะรับการฟื้นฟู

สีเหลือง สิทธิที่จะได้รับการปกป้องจากความรุงแรงและการถูกทำร้ายทุกรูปแบบ

สีส้ม: สิทธิที่จะได้รับการเลี้ยงทางเลือก เช่น การรับเป็นบุตรบุญธรรม

สีฟ้า การกระทำใดๆที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ต้องถือเป็นความสำคัญลำดับหนึ่ง



แหล่งอ้างอิง

 กรมกิจการเด็กและเยาวชน. (2567). รายงานสถิติการรับแจ้งเหตุและสภาพปัญหาเด็กของกรมกิจการเด็กและเยาวชน 2567. สืบค้น 5 

มีนาคม 2568 จาก https://www.dcy.go.th/

 ไทยรัฐออนไลน์. (2566). "ทุกๆ วัน เด็กและเยาวชน หนึ่งคนถูกล่วงละเมิดทางเพศ". สืบค้น 7 มีนาคม 2568 จาก 

ไทยรัฐออนไลน์. (2567). "10 ปี ไล่ออก! 271 ราย สถิติ ครู ชู้สาว ล่วงละเมิดทางเพศ". สืบค้น 7 มีนาคม 2568 จาก 

โรงพยาบาลภูเก็ต. (2564). "แนวทางการล่วงละเมิดทางเพศ". สืบค้น 5 มีนาคม 2568 จาก https://www.pkhospital.go.th/ITA%202564/EB%2024/3.%20แนวทางการล่วงละเมิดทางเพศ.pdf

iStrong. (2566). "9 สัญญาณบ่งบอกว่าคุณกำลังถูกคุกคามทางเพศ". สืบค้น 5 มีนาคม 2568 จาก https://www.istrong.co/single-post/9-signs-of-sexual-harassment

ไทยรัฐ. (2567). "ทําแผนครูตุ๋ย ม.3 ให้ออกราชการ ล่วงละเมิดถึง 105 ครั้ง มาราธอนห้องดนตรี". สืบค้น 10 มีนาคม 2568 จาก https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2796400


Comments


bottom of page