top of page
Safeguardkids_Brand-Update_page-0012.jpg

วิธีรับมือจากการถูกสะกดรอยตาม (Stalking)

  • Pattreya Riwthong
  • 25 มิ.ย.
  • ยาว 3 นาที

อัปเดตเมื่อ 26 มิ.ย.


ในยุคดิจิทัลที่การใช้โซเชียลมีเดียเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน การถูกสะกดรอยตาม (Stalking) ได้กลายเป็นปัญหาที่น่าวิตกกังวล รวมไปถึงในโลกออนไลน์ (Cyberstalking) เช่นกัน ทั้งสองรูปแบบล้วนสร้างความไม่ปลอดภัยและส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้ถูกกระทำ ในบทความนี้เราจะมาพูดถึงคำนิยาม ผลกระทบต่อผู้ถูกคุกคาม การรับมือ การดำเนินผิดทางกฎหมายและการเยียวยาสภาพจิตใจทางผู้ถูกสะกดรอยตามค่ะ


การสะกดรอยตาม (Stalking) คืออะไร?

การสะกดรอยตาม (Stalking) คือพฤติกรรมที่มุ่งเป้าไปที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งแบบเฉพาะเจาะจง ทำให้บุคคลนั้นรู้สึกหวาดกลัวและไม่ปลอดภัย แม้ว่าพฤติกรรมบางอย่างจะดูเหมือนไม่ผิดกฎหมาย (เช่น ตามหรือเรียกร้องความสนใจเชิงชู้สาว) แต่เมื่อพิจารณาในบริบทของการสะกดรอยตาม อาจถือเป็นการกระทำผิดกฎหมาย

 

การสะกดรอยตามลักษณะเป็นอย่างไร?

พฤติกรรมในโลกจริง(Physical):

            • โทรศัพท์หาบ่อยๆ รวมถึงการโทรแล้ววางสาย

            • ติดตามและปรากฏตัวไปทุกที่ที่เราอยู่ เช่น ดักเจอหน้าปากซอย ป้ายรถเมล์ หรือขับรถผ่านแถวบ้าน โรงเรียน ที่ทำงาน

            • ส่งของขวัญ จดหมาย ข้อความที่ไม่พึงประสงค์ 

            • ทำลายบ้าน รถยนต์ หรือทรัพย์สิน

            • ใช้เทคโนโลยี เช่น กล้องวงจรปิดแบบซ่อนหรือ GPS เพื่อติดตาม

            • ขู่ว่าจะทำร้ายเรา ครอบครัว เพื่อน หรือสัตว์เลี้ยง

            • ใช้คนอื่นเพื่อพยายามติดต่อเรา 

 

Cyberstalking (Online):

            • สอดส่องและติดตามกิจกรรมออนไลน์

            • ใช้ข้อมูลจากโซเชียลมีเดียเพื่อตามหาตำแหน่งในโลกจริง

            • ส่งข้อความคุกคามผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

            • แฮกเข้าบัญชีส่วนตัว

            • สร้างบัญชีปลอมเพื่อติดตาม

 

การถูกสะกดรอยตาม Stalking ส่งผลกระทบต่อเหยื่อ

 การสะกดรอยตามไม่ว่าจะทางต่อหน้าหรือทางออนไลน์ ไม่เพียงแต่สร้างบาดแผลทางจิตใจแต่ยังส่งผลกระทบต่อร่างกาย กิจวัตรประจำวันและสังคมที่เปลี่ยนไป และในท้ายที่สุดมักนำไปสู่เหตุการณ์ที่เราไม่คาดคิด

อย่างไรก็ตามผู้ถูกสะกดรอยตามอาจมีอาการและความรุนแรงที่แตกต่างกันไป หลังจากถูกสะกดรอยตามอาจมีอาการดังนี้ส่งผลอยู่บ้างไม่มากก็น้อย


ผลกระทบทางจิตใจ

  • ความหวาดกลัว ความวิตกกังวล  เพราะจะคาดการณ์ถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นในทุกย่างก้าวกลายเป็นความหวาดระแวง หรือรู้สึกเหมือนถูกตามล่า ซึ่งส่งผลต่อการจดจ่อ สมาธิเพราะไม่มีสมาธิจดจ่อต่อสิ่งอื่นนอกจากเหตุการณ์นั้น การสูญเสียการเป็นตัวเอง รู้สึกเหมือนชีวิตไม่เป็นของตัวเองอีกต่อไป ไม่กล้าออกไปไหนตามเคย ไม่อยากเล่นโซเชียล

  • ความเครียดและบาดแผลทางจิตใจ อาจนำไปสู่ภาวะผิดปกติทางจิตใจ เช่น โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (PTSD) ความรู้สึกเครียดและวิตกกังวลอย่างต่อเนื่องนี้สามารถส่งผลให้เกิดอาการไฮเปอร์อะโรซอล (hyperarousal) หรือความตื่นตัวผิดปกติได้ 

  • ความรู้สึกอับอาย ความหดหู่ หรือความรู้สึกผิด โทษตัวเองว่าทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้น เช่น แต่งตัวแบบนี้ ไปสถานที่แบบนั้น โพสต์รูปแบบนี้รึเปล่า (แต่ความเป็นจริงความรู้สึกเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้นกับเหยื่อนะคะ ผู้กระทำผิดต่างหากที่ต้องรับผิดชอบ)

ผลกระทบทางร่างกาย

  • ปัญหาด้านสุขภาพกาย เช่น มีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ ฝันร้าย เพราะสมองเล่นภาพฉากเดิมซ้ำ ๆ แบบไม่ได้ตั้งใจ (Flashback) อยู่ ๆ ก็นึกถึงภาพเหตุการณ์ที่ถูกคุกคาม หรือได้ยินเสียงหรือกลิ่นบางอย่างแล้วหัวใจเต้นแรง เหงื่อแตก เพราะรู้สึกเหมือนกลับไปที่เหตุการณ์นั้น ๆ ทำให้เกิดปวดศีรษะ


ผลกระทบทางสังคม

  • ถูกตัดขาดจากสังคม เพื่อน และครอบครัว  ไม่กล้าพูด ไม่กล้าขอความช่วยเหลือ หรือรู้สึกว่าคนรอบตัวไม่เข้าใจ เกิดการมองโลกในแง่ร้าย เกิดความคิดว่าไม่มีใครสามารถเข้าใจเราได้ เล่าให้ใครฟังก็รู้สึกว่าไม่มีใครช่วยได้ กลัวเล่าไปแล้วจะโดนล้อ อะไร ๆ ในเหตุการณ์แย่ไปหมดจึงเก็บทุกอย่างไว้คนเดียว หรือในบางคนอาจไม่แสดงอาการใด ๆ เลย

 

 


แนวทางการดำเนินคดีและรับมือสำหรับเหยื่อ


ในประเทศไทย, พฤติกรรมการสะกดรอยตาม (Stalking) ถือเป็นอาชญากรรมรูปแบบหนึ่งที่อาจมีบทลงโทษและแนวทางการดำเนินคดีภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้:


การสะกดรอยตามภายใต้ประมวลกฎหมายอาญา

ในประเทศไทย พฤติกรรมที่เข้าข่ายการสะกดรอยตามที่ทำให้เกิดความรบกวนหรืออึดอัดใจแก่ผู้ถูกตาม เช่น การแอบส่องดูเฉยๆ อาจไม่เกิดความเสียหายหรือมีความปิดทางกฎหมายชัดเจน แต่ถ้าพัฒนาไปสู่การคุกคามทางกายภาพที่ทำให้เหยื่อรู้สึกเดือดร้อน รำคาญ และไม่ปลอดภัย อาจเข้าข่ายความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397

 

บทลงโทษ

         มาตรา 397 วรรคหนึ่ง: ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

         มาตรา 397 วรรคสอง: ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำในที่สาธารณะสถานหรือต่อหน้าธารกำนัล ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ร่างกฎหมายใหม่

อย่างไรก็ตาม กฎหมายในประเทศไทยในปัจจุบันเรื่องการรุกรานตามรังควานโดยไม่จำเป็นต้องถึงการคุกคามกายภาพแล้ว ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการร่างแก้ไขกม.อาญาความรุนเเรงในครอบครัวเเละคุกคามทางเพศเด็ก เพิ่มโทษกระทำผ่านสื่อออนไลน์ 

ในร่างมาตรา 15 กำหนดเพิ่มเติมให้ผู้ใดกระทำความผิดในลักษณะ (การติดตามคุกคาม) เฝ้าดูหรือติดตามอย่างใกล้ชิด หรือการติดต่อหรือพยายามติดต่อไม่ว่าด้วยทางตรงหรือทางอ้อม หรือการกระทำอื่นใดอันมีลักษณะเดียวกันต่อบุคคลใด อันเป็นผลทำให้ผู้ถูกกระทำเกิดความเดือดร้อนรำคาญเกินสมควร รบกวนความเป็นอยู่ส่วนตัว หรือทำให้ผู้ถูกกระทำไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ หรือเกิดความหวาดกลัวต่อความไม่ปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้ถูกกระทำหรือสมาชิกในครอบครัวของผู้ถูกกระทำ

ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และหากเป็นการกระทำผ่านอุปกรณ์โทรคมนาคม หรือระบบคอมพิวเตอร์ต้องระวางโทษหนักขึ้น 

(จำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) 

 

 

การสะกดรอยตามบนโลกออนไลน์ (Cyberstalking) ภายใต้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์

การสะกดรอยตามไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในชีวิตจริงเท่านั้น แต่สามารถเกิดขึ้นได้บนโลกออนไลน์ หรือที่เรียกว่า 'cyberstalking' ซึ่งเป็นการสอดแนมบัญชีโซเชียลมีเดีย, การโพสต์รูป, ข้อความ, แชร์ข้อมูล/กิจกรรมส่วนตัว หรือการเช็คอินสถานที่ ที่อาจเปิดช่องโหว่ให้สตอล์กเกอร์เข้าถึงข้อมูลและตัวตนของเหยื่อได้ง่ายขึ้น

            บทลงโทษ

            หากมีการลอบเข้าระบบคอมพิวเตอร์ของเหยื่อด้วย จะเข้าข่ายความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 ตามมาตรา 5 ถึง มาตรา 8 ว่าด้วยการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลของผู้อื่นโดยไม่ชอบ ซึ่งมีบทลงโทษ จำคุกสูงสุดถึง 2 ปี และ/หรือปรับสูงสุด 4 หมื่นบาท

 


วิธีการรับมือ หากตกเป็นเหยื่อของการสะกดรอยตาม


            1. แจ้งตำรวจทันที จงเชื่อในสัญชาตญาณ และขอความช่วยเหลือจากตำรวจทันทีหากรู้สึกว่าตกอยู่ในอันตราย สามารถแจ้งความได้ที่ สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ, สถานีตำรวจนครบาล, สถานีตำรวจภูธร หรือร้องทุกข์ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ได้เช่นกัน

            2.  รวบรวมและบันทึกหลักฐาน

                        ○ บันทึกเหตุการณ์ทุกครั้ง จดบันทึกการพบปะกับผู้สะกดรอยตามทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการโทรมาแล้ววางสาย การพบเห็นในที่สาธารณะ โดยบันทึก วันและเวลาของเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม

                        ○ เก็บหลักฐาน เก็บข้อความ, อีเมล, ประวัติการโทร, ของขวัญที่ไม่พึงประสงค์, จดหมาย, โน้ต, หรือข้อความบนโซเชียลมีเดียที่สตอล์กเกอร์ส่งมาทั้งหมด หากมีพยาน ให้บันทึกชื่อพยานด้วย

                        ○ บันทึกข้อมูลการแจ้งตำรวจ หากมีการแจ้งตำรวจ ให้บันทึกชื่อเจ้าหน้าที่, หมายเลขรายงาน, และการดำเนินการใดๆ ที่ตำรวจดำเนินการ

            3.  หลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์ อย่าตอบโต้หรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สะกดรอยตาม โดยเด็ดขาด เพราะการกระทำของคุณอาจยั่วยุพฤติกรรมของคนร้ายได้ การพูดคุยกับสตอล์กเกอร์อาจทำให้เขาคิดว่าคุณต้องการความสัมพันธ์ หรือว่าพฤติกรรมของเขากำลังได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ

            4. แจ้งเตือนผู้อื่น บอกเพื่อน, ครอบครัว, เพื่อนบ้าน, เพื่อนร่วมงาน และ/หรือแผนกทรัพยากรบุคคลของที่ทำงาน ให้คอยสังเกตพฤติกรรมที่น่าสงสัย เพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขาให้ข้อมูลส่วนตัวของคุณแก่บุคคลที่แสร้งทำเป็นคนรักหรือคนในครอบครัว

            5. เพิ่มความปลอดภัยส่วนบุคคล

·      การเดินทาง: ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปคนเดียว และควรอยู่ในที่สาธารณะ หากรู้สึกว่ากำลังถูกสะกดรอยตาม ควรขับรถไปยังสถานีตำรวจหรือสถานีดับเพลิง

·      เมื่อออกจากบ้าน: หลีกเลี่ยงการเดินทางคนเดียว อยู่ในที่สาธารณะ หรือที่ ๆ  แสงสว่าง เตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ  ติดตัว เช่น สเปรย์พริกไทยดำ

·      ความปลอดภัยในบ้าน:

·      สำรวจทางหนีทีไล่ภายในบ้าน หากมาหน้าบ้านสามารถออกทางไหนได้บ้าง และสอนคนในบ้านให้ทราบในการรับมือ

·      เตรียมกระเป๋าที่มีสิ่งของจำเป็นวางไว้ในที่ปลอดภัย เพื่อให้สามารถหยิบและออกจากบ้านได้อย่างรวดเร็ว

·       ติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัย เช่น กลอนประตูหนาแน่น, ไฟส่องสว่างภายนอก, กล้องวงจรปิด (หากทำได้)  

·      ความปลอดภัยออนไลน์ (Cyberstalking):

·       DO ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว: ตั้งค่าบัญชีออนไลน์ทั้งหมดให้จำกัดการแชร์เฉพาะกลุ่มคนที่วางใจได้เท่านั้น

·       DO ใช้ VPN: ใช้ VPN ทุกครั้งเมื่อใช้งานบนเครือข่ายสาธารณะ

·       DO  ตั้งรหัสผ่านที่ซับซ้อน: ตั้งรหัสผ่านที่มีความยาว 12-14 ตัวอักษรขึ้นไป โดยมีตัวอักษรใหญ่-เล็ก, ตัวเลข, และสัญลักษณ์ผสมกัน

·       DO  ติดตั้งโปรแกรมป้องกันไวรัส/มัลแวร์: ลงโปรแกรมสแกนไวรัสและมัลแวร์บนคอมพิวเตอร์

·      DO แจ้งผู้ให้บริการแพลตฟอร์มนั้น: หากถูกคุกคามจาก Cyberstalking แล้ว ให้แจ้ง Help Center ของผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้อง (เช่น Facebook)

·      Don’t  ไม่แชร์รหัสผ่าน: ไม่แชร์รหัสผ่านบัญชีออนไลน์กับใคร และควรเปลี่ยนรหัสผ่านทันทีหากเคยมีคนรู้จักทราบ

·      Don’t  ระวังคอมพิวเตอร์สาธารณะ: ระวัง Malware เช่น Keylogger หรือ Stalkerware และ Log-out ออกจากระบบทุกครั้งหลังใช้งาน

·      Don’t ไม่โพสต์ข้อมูลส่วนตัวมากเกินไป: ปิด Geo-tagging หรือ Metadata ของรูปถ่าย, หลีกเลี่ยงการเช็คอินสถานที่ใกล้ที่อยู่อาศัย

 

การสะกดรอยตามไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย มันเป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้ความรุนแรงที่สร้างความหวาดกลัว คุกคาม และควบคุมเหยื่อได้

ควรเชื่อสัญชาตญาณของตนเองและหาความช่วยเหลือทันทีหากรู้สึกไม่ปลอดภัย

การเยียวยาและรับมือกับผลกระทบทางสุขภาพจิต


  การบำบัดด้วยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy - CBT) เป็นหนึ่งในวิธีการบำบัดที่ได้รับการรับรองและมีหลักฐานสนับสนุนว่ามีประสิทธิภาพในการช่วยฟื้นฟูสุขภาพจิตของผู้ที่ถูกสะกดรอยตาม เป้าหมายสูงสุดของ CBT คือเพื่อช่วยให้เหยื่อฟื้นคืนความรู้สึกปลอดภัยและกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นในตนเองและศักยภาพในการควบคุมชีวิต


เทคนิคหลักของ CBT เพื่อการเยียวยา

·      การประมวลผลบาดแผลทางจิตใจ (Trauma Processing): ช่วยให้เหยื่อเข้าใจและจัดการกับประสบการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ โดยใช้เทคนิคเช่น Exposure Therapy ที่ค่อยๆ และค่อยเป็นค่อยไปให้เหยื่อเผชิญหน้ากับความคิด ความทรงจำ และสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสะกดรอยตามในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เพื่อลดอำนาจของความทรงจำเหล่านั้นในการกระตุ้นอาการ PTSD

·      การปรับโครงสร้างความคิด (Cognitive Restructuring): ช่วยเหยื่อระบุ ท้าทาย และแทนที่ความคิดเชิงลบที่บิดเบือนเกี่ยวกับตนเองและโลก ตัวอย่างเช่น การเชื่อว่า "ฉันจะไม่มีวันปลอดภัยอีกแล้ว" หรือ "เป็นความผิดของฉันที่สิ่งนี้เกิดขึ้น" ซึ่งความคิดเหล่านี้จะถูกท้าทายและแทนที่ด้วยมุมมองที่เป็นจริงและสมดุลมากขึ้น

·      การจัดการความวิตกกังวลและความกลัว: นอกจากการปรับความคิดแล้ว CBT ยังเน้นเทคนิคผ่อนคลายทางกายภาพ เช่น การฝึกหายใจลึกๆ (Deep Breathing), การผ่อนคลายกล้ามเนื้อแบบก้าวหน้า (Progressive Muscle Relaxation - PMR) และการทำสมาธิแบบเจริญสติ (Mindfulness Meditation) เพื่อช่วยจัดการกับอาการทางกายภาพของความเครียด

·      การเสริมสร้างทักษะการแก้ปัญหา: ช่วยให้เหยื่อจัดการกับปัญหาในทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยส่วนบุคคล เช่น การเพิ่มความปลอดภัยในบ้าน หรือการดำเนินการทางกฎหมาย

·      การพัฒนาทักษะการควบคุมอารมณ์: สอนให้เหยื่อรับรู้อารมณ์ของตนเอง เข้าใจสิ่งกระตุ้น และเรียนรู้วิธีจัดการกับอารมณ์เหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพ

·      การฝึกทักษะทางสังคมและการแสดงออกอย่างมั่นใจ (Assertiveness Training): เพื่อช่วยให้เหยื่อกลับมามีส่วนร่วมกับสังคม และป้องกันผลกระทบจากการแยกตัว

                 

                  แม้เทคนิค CBT บางอย่างจะสามารถฝึกได้ด้วยตนเอง เช่น การฝึกสติและการผ่อนคลายเบื้องต้น แต่ควรไปเยียวยากับนักบำบัดผู้เชี่ยวชาญโดยตรง โดยเฉพาะผู้ที่ต้องรับมือกับอารมณ์ที่ซับซ้อนและบาดแผลทางจิตใจจากการถูกสะกดรอยตาม

นอกจากนี้ ยังมีปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพจิตใจที่อาจเกิดขึ้นในสถานการณ์การถูกคุมขัง คือ Stockholm Syndrome ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่เหยื่อที่ถูกคุมขังหรือทารุณกรรมพัฒนาความผูกพันทางอารมณ์เชิงบวกกับผู้กระทำ Stockholm Syndrome ไม่ใช่ภาวะทางจิตเวช แต่เป็นกลไกการอยู่รอดทางจิตวิทยาที่ใช้เพื่อเอาตัวรอดจากสถานการณ์เลวร้าย การบำบัดสำหรับผู้ที่มีอาการนี้มักจะคล้ายคลึงกับการรักษาอาการ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) เพื่อช่วยให้เหยื่อทำความเข้าใจประสบการณ์ของตนเองและสามารถก้าวเดินต่อไปได้



อ้างอิง:



สีสิทธิเด็กที่เกี่ยวข้อง:

สีขาว: เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นในทุกประเด็นที่มีผลต่อพวกเขา และจะต้องถูกรับฟัง

สีเบจ: เด็กทุกคนมีสิทธิได้รับการปกป้องจากการแสวงหาผลประโยชน์

และการถูกคุกคามทางเพศทุกรูปแบบ

สีเหลือง: เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการปกป้องจากความรุนแรง และการถูกทำร้ายทุกรูปแบบ

สีฟ้า: ในการกระทำใดๆที่เกี่ยวข้องกับเด็กผลประโยชน์ของเด็กจะต้องถือเป็นความสำคัญลำดับหนึ่งฃ


🚨 สามารถอ่านบทความฉบับย่อ อ่านง่าย แชร์ง่าย เเละติดตามเพื่อไม่พลาดข่าวสารด้านคุกคามทางเพศเด็กและเยาวชนใหม่ๆได้ที่ Facebook Safeguardkids.org

หรือกดลิ้งค์นี้ได้เลย https://www.facebook.com/safeguardkidsorg/

 

Comments


bottom of page