Cyberbullying คืออะไร?: ภัยเงียบที่คุกคามเด็กไทยในโลกออนไลน์
- Pattreya Riwthong
- 21 พ.ค.
- ยาว 2 นาที
อัปเดตเมื่อ 8 ชั่วโมงที่ผ่านมา

ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน ภัยออนไลน์ที่คุกคามเด็กและเยาวชนไทยก็เพิ่มมากขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะปัญหา "ไซเบอร์บูลลี่" (Cyberbullying) หรือการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ ซึ่งพบมากถึง 49% ของภัยออนไลน์ทั้งหมด ตามด้วยการเข้าถึงสื่อลามกและพูดคุยเรื่องเพศกับคนแปลกหน้า (19%) การติดเกม (12%) และการถูกล่อลวงให้ไปพบคนแปลกหน้า (7%)
Cyberbullying คืออะไร?
Cyberbullying หรือการระรานทางไซเบอร์ หมายถึงการกลั่นแกล้ง ให้ร้าย ล้อเลียน หรือระรานผู้อื่นบนโลกอินเทอร์เน็ต โดยใช้อำนาจเพื่อทำให้ผู้อื่นรู้สึกกลัว รู้สึกแย่ หรือรู้สึกไร้ค่า ไม่ว่าจะเป็น:
การโพสต์หรือพิมพ์ข้อความด่าว่า
การแต่งเรื่องราวหลอกลวงให้ผู้อื่นเสียหาย
การตัดต่อภาพหรือวิดีโอล้อเลียน
การสวมรอยเป็นผู้อื่นบนโลกออนไลน์
สิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนอาวุธที่คอยทิ่มแทงจิตใจของผู้ถูกกระทำ
ผลกระทบของ Cyberbullying
อย่ามองข้ามพฤติกรรมการรังแกกันในโลกออนไลน์ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกดิจิทัลสามารถส่งผลกระทบต่อชีวิตจริงได้อย่างรุนแรง ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งออนไลน์อาจเผชิญกับ:
· ความเครียดและวิตกกังวล
· ภาวะซึมเศร้า
· ปัญหาสุขภาพจิต
· ผลกระทบต่อการเรียนหรือการทำงาน
· ในกรณีรุนแรง อาจนำไปสู่ความคิดหรือการพยายามฆ่าตัวตาย
รูปแบบของการคุกคามแบบ Cyberbullying
การก่อกวน ข่มขู่คุกคาม – ส่งข้อความก่อกวนทั้งในกล่องข้อความส่วนตัวหรือโพสต์ลงบนโซเชียลมีเดีย
การให้ร้ายใส่ความ - สร้างเรื่องหลอกลวงหรือใส่ความไปในทางเสื่อมเสีย เพื่อทำให้อับอาย
การเผยแพร่ความลับหรือแบล็กเมล์ – นำความลับมาเปิดเผยเพื่อสร้างความเสียหาย ทำให้หลงเชื่อเพื่อหลอกไปทำเรื่องไม่ดีหรือนำข้อมูลไปเปิดโปง
การแอบอ้างชื่อ – สร้างบัญชีปลอมหรือแฮ็กข้อมูลเพื่อสร้างเรื่องหลอกลวง แอบใช้ตัวตนของผู้อื่นเพื่อสร้างความเสื่อมเสีย
สถานการณ์ในประเทศไทย
ข้อมูลสถิติจาก AIS เผยว่า 48% ของเด็กไทยเคยเกี่ยวข้องกับการรังแกบนโลกออนไลน์ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 33% สะท้อนให้เห็นว่าปัญหานี้ในไทยยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือให้ความสำคัญเท่าที่ควร
สาเหตุของปัญหา
การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวมากเกินไป - เด็กและเยาวชนที่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวอาจถูกติดตาม คุกคาม หรือถูกล่อลวงได้ง่าย และ ผู้ปกครอง - การแชร์ภาพ วิดีโอ เช็คอิน หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของเด็กโดยผู้ปกครองเอง อาจเปิดช่องให้มิจฉาชีพเข้าถึงได้ง่าย
ปัญหาเชิงโครงสร้าง - ตั้งแต่สถาบันครอบครัวและสถานศึกษาที่ไม่ได้แก้ไขทัศนคติเกี่ยวกับการหยอกล้อหรือล้อเลียนกัน ทำให้พฤติกรรมเหล่านี้ทวีความรุนแรงมากขึ้นและลามไปถึงโลกออนไลน์
วิธีป้องกันและรับมือ
สิ่งที่ควรทำเพื่อป้องกัน:
สื่อสารและปลูกฝังเรื่องการระมัดระวังคำพูด - สอนเด็กให้ตระหนักถึงผลกระทบของคำพูดและการกระทำ รวมถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่พูดออกไป
สอนทักษะก่อนเล่นโซเชียลมีเดีย ได้แก่:
ใจเขาใจเรา - รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ไม่ตัดสินหรือด่าทอผู้อื่นเพียงเพราะสิ่งที่เห็น
เช็กก่อนเชื่อ - ตรวจสอบข้อมูลก่อนโพสต์หรือแสดงความคิดเห็น
คิดก่อนโพสต์ - ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวหรือรูปภาพที่ไม่เหมาะสม
สร้างภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์ - ฝึกทักษะการรู้เท่าทันสื่อ การจัดการตัวตนและชื่อเสียง และการรักษาความเป็นส่วนตัว
สอนให้ระวังคนแปลกหน้า - ให้เด็กเข้าใจและระมัดระวังบุคคลที่พยายามเข้าใกล้ด้วยการให้ของขวัญหรือเงิน
สอนให้รู้จักพฤติกรรมที่น่าสงสัย - เข้าใจรูปแบบพฤติกรรมของคนแปลกหน้าที่ควรหลีกเลี่ยง
วิธีรับมือเมื่อถูกกลั่นแกล้งออนไลน์:
ไม่โต้ตอบ - การตอบโต้อาจทำให้เรื่องบานปลายมากขึ้น
บล็อก - ปิดช่องทางไม่ให้ผู้กลั่นแกล้งเข้าถึงได้
ไม่เก็บไว้คนเดียว - ขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ชิดหรือผู้ใหญ่ที่ไว้ใจ
เก็บหลักฐาน - รวบรวมหลักฐานของการกลั่นแกล้งเพื่อดำเนินการทางกฎหมายหากจำเป็น
การใช้กฎหมายหยุด Cyberbullying อย่างเด็ดขาด
สำหรับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งออนไลน์ อย่าเพียงแค่ร้องไห้หรือเสียกำลังใจ คุณมีสิทธิ์ที่จะดำเนินการทางกฎหมาย โดยรวบรวมหลักฐานการถูกระราน ไม่ว่าจะเป็นการถูกด่าทอ การตัดต่อรูปเพื่อสร้างความเสียหาย หรือการปลอมแปลงตัวตน แล้วนำไปแจ้งความกับตำรวจ
ในประเทศไทยมีกฎหมายที่สามารถเอาผิดผู้ที่รังแกโดยใช้ไซเบอร์เป็นเครื่องมือได้ ดังนี้:
กฎหมายการหมิ่นประมาท
1. มาตรา 326 - ผู้ที่ใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่อาจทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียงหรือถูกเกลียดชัง มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. มาตรา 328 - การกระทำผิดด้วยการทำโฆษณา สร้างเอกสาร ภาพ วิดีโอ การเผยแพร่เสียงหรือภาพ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท
3. มาตรา 392 - การกระทำที่ทำให้ผู้อื่นเกิดความตกใจ เช่น การโพสต์ขู่ทำร้าย มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4. มาตรา 397 - การรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือทำให้ผู้อื่นอับอายเดือดร้อน มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
เเละประเทศไทยในปัจจุบันนี้มีร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ให้ครอบคลุมกระทำผ่านออนไลน์มากขึ้น
5. (ร่างมาตรา 17) กำหนดเพิ่มเติมให้ผู้ใดกระทำความผิดในลักษณะการกลั่นแกล้ง รังแกทางออนไลน์ (Cyber Bullying) (กลั่นแกล้ง รังแก ระราน ข่มเหง หรือการกระทำลักษณะเดียวกันต่อผู้อื่น ผ่านอุปกรณ์โทรคมนาคมหรือระบบคอมพิวเตอร์) โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้ถูกกระทำได้รับความอับอาย หรือได้รับผลกระทบอย่างหนึ่งอย่างใดทางร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ชื่อเสียง ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การแก้ปัญหาไซเบอร์บูลลี่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งครอบครัว สถานศึกษา และสังคม เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมออนไลน์ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชนไทย การเรียนรู้ทักษะการใช้สื่อออนไลน์อย่างเหมาะสมและการสร้างภูมิคุ้มกันทางดิจิทัลจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องปลูกฝังตั้งแต่เยาว์วัย รวมถึงการสร้างความตระหนักถึงบทลงโทษทางกฎหมายที่จะตามมาหากมีการกระทำความผิด
อ้างอิง
กรมประชาสัมพันธ์. เด็กไทยกับการเสี่ยงภัยไซเบอร์. https://radiothailand.prd.go.th/th/content/category/detail/id/1378/iid/277279Fillgoods. Cyberbullying คืออะไร วิธีรับมือการกลั่นแกล้งและระรานบนไซเบอร์แบบอยู่หมัด.https://fillgoods.co/facebook-marketing/no-shop-what-is-cyberbullying> Droidsans. ผลวิจัยเผย คนไทยมักล้อเลียนเรื่องรูปลักษณ์และเพศ ในโลกออนไลน์สูงถึง 36.4% และ 31.8%. https://droidsans.com/stop-cyber-bullying-campaign/
#มูลนิธิพิทักษ์เเละคุ้มครองเด็ก #SafeguardKids #StopCyberbullying #ไซเบอร์บูลลี่ #ปลอดภัยออนไลน์ #DigitalWellbeing
สีสิทธิเด็กที่เกี่ยวข้อง:
สีขาว: เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นในทุกประเด็นที่มีผลต่อพวกเขา และจะต้องถูกรับฟัง
สีเบจ: เด็กทุกคนมีสิทธิได้รับการปกป้องจากการแสวงหาผลประโยชน์และการถูกคุกคามทางเพศทุกรูปแบบ
สีฟ้า: ในการกระทำใดๆที่เกี่ยวข้องกับเด็กผลประโยชน์ของเด็กจะต้องถือเป็นความสำคัญลำดับหนึ่ง
สีม่วง: เด็กทุกคนมีสิทธิในการใช้ชีวิตและพัฒนาตัวเอง
🚨 สามารถอ่านบทความฉบับย่อ อ่านง่าย แชร์ง่าย เเละติดตามเพื่อไม่พลาดข่าวสารด้านคุกคามทางเพศเด็กและเยาวชนใหม่ๆได้ที่ Facebook Safeguardkids.org
หรือกดลิ้งค์นี้ได้เลย https://www.facebook.com/safeguardkidsorg/
Kommentare