เผยรายงานการแสวงหาประโยชน์ทางเพศและการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางออนไลน์ในไทย พบผู้เสียหายอายุ 12-17 ปี ราว 4 แสนคนตกเป็นเหยื่อ ถูกแบล็กเมล์ ถูกส่งต่อภาพ ยันข่มขู่ร่วมเพศ หนำซ้ำไม่เปิดเผยกับใคร ไม่แจ้งตำรวจอื้อ เหตุอับอาย ถูกมองเชิงตำหนิ จี้รัฐตั้งหน่วยงานสอดส่อง และสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน
วันนี้ (21 ก.พ.) รายงานข่าวจากองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เปิดเผยว่า องค์การเอ็คแพท (ECPAT) องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ (INTERPOL) และศูนย์วิจัยอินโนเซนติขององค์การยูนิเซฟ เปิดเผยถึงรายงาน Disrupting Harm เกี่ยวกับการแสวงหาประโยชน์ทางเพศและการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางออนไลน์ในประเทศไทย ระบุว่า ในปีที่ผ่านมาเด็กอายุ 12-17 ปีถูกแสวงประโยชน์และล่วงละเมิดทางเพศทางออนไลน์ ไม่ได้เปิดเผยประสบการณ์ลักษณะดังกล่าวของตนต่อผู้ใด คิดเป็น 10-31% ขณะที่ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กที่เข้าร่วมการสำรวจ มีเพียง 17% ที่กล่าวว่า จะแจ้งตำรวจหากลูกของตนประสบกับการลวนลามทางเพศ การล่วงละเมิดทางเพศ หรือการแสวงหาประโยชน์ทางเพศทางออนไลน์
สำหรับสาเหตุที่ทำให้เด็กไม่รายงานเหตุการณ์ดังกล่าว พบว่าอุปสรรคสำคัญ คือพวกเขาไม่รู้ว่าจะบอกใครหรือจะไปบอกที่ไหน โดยพบว่า 47% ของเด็กที่เข้าร่วมการสำรวจกล่าวว่า พวกเขาไม่รู้ว่าจะขอความช่วยเหลือได้จากที่ไหน หากตนเองหรือเพื่อนๆ ถูกคุกคามหรือลวนลามทางเพศ ที่ผ่านมาเด็กรู้สึกอับอาย ถูกตำหนิ และความรู้สึกที่ทำให้พวกเขาไม่ต้องการพูดหรือเปิดเผยเรื่องราวแบบนี้ และจากการสัมภาษณ์เด็กผู้เสียหาย เด็กบางคนรู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้ถูกมองว่าเป็นผู้เสียหาย แต่เป็นผู้รับผิดชอบต่อการล่วงละเมิดทางเพศและการแสวงหาประโยชน์ทางเพศทางออนไลน์ พวกเขาต้องกล้ำกลืนฝืนทน และเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย และสาธารณชนมีมุมมองเช่นนั้นต่อพวกเขา
“การถามปากคำเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ฉันถูกล่วงละเมิดทางเพศทางออนไลน์ เกิดขึ้นตรงโต๊ะรับแจ้งความในสถานีตำรวจ มีคนอยู่บริเวณนั้นประมาณ 10 คน รวมทั้งตำรวจชาย 2 นายและเพื่อนของฉัน 5 คน” เด็กผู้เสียหายจากการถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศและการล่วงละเมิดทางเพศทางออนไลน์ ระบุในรายงาน
ที่สำคัญ ผู้เสียหาย คือเด็ก ยังคงต้องเผชิญหน้ากับผู้กระทำความผิด คือผู้ใหญ่ในศาล เด็กๆ ที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีเล่าถึงความทุกข์ทรมานใจที่ต้องนั่งอยู่ในห้องพิจารณาคดี และเผชิญหน้ากับผู้กระทำความผิด แม้ว่ากระบวนการที่เป็นมิตรต่อเด็ก เทคนิคการสืบสวนสอบสวนที่มีผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง และการระบุตัวผู้เสียหาย ได้ถูกกำหนดให้เป็นมาตรฐานแนวปฏิบัติในประเทศไทยแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับไม่ได้ใช้แนวปฏิบัติดังกล่าวเสมอไป
รายงานดังกล่าวยังระบุอีกด้วยว่า ในปีที่ผ่านมาเพียงปีเดียว พบว่า 9% ของเด็กที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย อายุ 12-17 ปี คิดเป็นประมาณ 400,000 คน ตกเป็นผู้เสียหายจากการถูกแสวงประโยชน์และละเมิดทางเพศทางออนไลน์ ซึ่งรวมถึงการแบล็กเมล์เด็กให้เข้าร่วมกิจกรรมทางเพศ การส่งต่อภาพทางเพศของพวกเขาโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือการข่มขู่เด็กให้เข้าร่วมกิจกรรมทางเพศ โดยสัญญาว่าจะได้รับเงินหรือสิ่งของเป็นการตอบแทน เมื่อขยายสถิติดังกล่าวไปสู่ประชากรของประเทศ พบว่าเด็กตกอยู่ในอันตรายเหล่านี้ในช่วงระยะเวลาเพียง 1 ปี
โดยพบว่าเด็กอายุ 12-17 ปี ที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย มี 7% ระบุว่าในปีที่ผ่านมาพวกเขาได้รับข้อเสนอเป็นเงินหรือสิ่งของ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการพบกับบุคคลและร่วมกิจกรรมทางเพศ ในจำนวนเด็กที่ได้รับข้อเสนอดังกล่าว พบว่า 76% กล่าวว่าพวกเขาได้รับการติดต่อผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่จากทวิตเตอร์ ตามด้วยเฟซบุ๊ก และติ๊กต็อก และในปีที่ผ่านมา 7% เคยได้รับข้อเสนอเป็นเงินหรือสิ่งของเพื่อแลกเปลี่ยนกับภาพทางเพศ โดย 84% ของข้อเสนอดังกล่าวได้รับผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ก หรือเฟซบุ๊กเมสเซนเจอร์
และในปีที่ผ่านมา 10% ถูกชักชวนให้พูดคุยเกี่ยวกับเพศหรือกิจกรรมทางเพศกับบุคคลที่พวกเขาไม่ต้องการพูดคุยเรื่องดังกล่าวด้วย 70% ของเด็กเหล่านี้กล่าวว่า พวกเขารู้สึกไม่ดีกับประสบการณ์ที่ได้รับดังกล่าว โดยความรู้สึกที่พบเป็นส่วนใหญ่คือ รู้สึกผิด กลัว หงุดหงิด และทุกข์ใจ โดยส่วนมากแล้วผู้กระทำความผิดเป็นบุคคลที่เด็กรู้จัก ส่วนบุคคลที่เด็กไม่รู้จักมีเพียงประมาณ 1 ใน 5 ของกรณีที่เกิดขึ้น
ในรายงานดังกล่าว ยังเสนอไปยังรัฐบาล ว่าควรแต่งตั้งหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งของรัฐ ให้เป็นศูนย์กลางในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขการแสวงประโยชน์และล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางออนไลน์ โดยการดำเนินงานดังกล่าวรวมถึงการจัดตั้งหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ที่เน้นเฉพาะกรณีการแสวงประโยชน์และล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางออนไลน์ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานดังกล่าวเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการดำเนินงาน พร้อมทั้งจัดให้มีการอบรมด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้องแก่พนักงานอัยการ ผู้พิพากษา/เจ้าพนักงานตุลาการศาล ทนายความ เจ้าหน้าที่ศาล เจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็ก บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ส่วนหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทางสังคม และครู เพื่อช่วยส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของแต่ละหน่วยงานในกรณีของการแสวงประโยชน์และล่วงละเมิดทางเพศเด็กทางออนไลน์
นอกจากนี้ เสนอให้ดำเนินการมิให้การพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องเพศเป็นสิ่งที่ควรประณาม และดำเนินงานปรับโครงการด้านการศึกษาและการสร้างความตระหนักรู้ที่มีอยู่เกี่ยวกับการแสวงประโยชน์และล่วงละเมิดทางเพศจากเด็ก เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนทั่วไป รวมถึงบทบาทของเทคโนโลยีที่อาจเอื้ออำนวยให้
Comments